โครงการแก้มลิง

โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นทฤษฎีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood management) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตระหนักถึงภัยที่ร้ายแรงของวิกฤติน้ำท่วมกรุงเทพฯ และทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาด้วยกันหลายประการ อาทิ การเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลผ่านแนวคลองทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อกันการขยายตัวของเมือง และแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม รวมถึงการสร้างพื้นที่รับน้ำ หรือ แก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวก่อนระบายลงสู่ทางระบายน้ำหลัก

ความเป็นมาของโครงการแก้มลิง

          โครงการแก้มลิง เป็นแนวคิดในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย โดยพระองค์ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2538 จึงมีพระราชดำริ "โครงการแก้มลิง" ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๘ โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป จึงสามารถลดปัญหาน้ำท่วมได้

          ทั้งนี้ นอกจากโครงการแก้มลิงจะมีขึ้นเพื่อช่วยระบายน้ำ ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ เมื่อถูกระบายสู่คูคลอง จะไปบำบัดน้ำเน่าเสียให้เจือจางลง และในที่สุดน้ำเหล่านี้จะผลักดันน้ำเสียให้ระบายออกไปได้

 

 แนวคิดของโครงการแก้มลิง

          แนวคิดของโครงการแก้มลิง เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ จึงมีพระราชกระแสอธิบายว่า "ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง"  ด้วยแนวพระราชดำรินี้ จึงเกิดเป็น "โครงการแก้มลิง"  ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ ไว้รอการระบายเพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง

ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง

          ลักษณะของโครงการแก้มลิงจะดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน เพื่อให้น้ำไหลลงคลองพักน้ำที่ชายทะเล จากนั้นเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจนต่ำกว่าน้ำในคลอง น้ำในคลองจะไหลลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ ต่อจากนั้นจะเริ่มสูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเอง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง จนในที่สุดเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับในคลอง จึงปิดประตูระบายน้ำ โดยให้น้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)

 

ประเภทของโครงการแก้มลิง

โครงการแก้มลิงมี ๓ ขนาด คือ

๑. แก้มลิงขนาดใหญ่ ( Retarding Basin) คือ สระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้นๆ โดยจะกักเก็บไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ พื้นที่เก็บกักน้ำเหล่านี้ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น ลักษณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์อื่นประกอบด้วย เช่น เพื่อการชลประทาน เพื่อการประมง เป็นต้น

๒. แก้มลิงขนาดกลาง เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ มักเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น

๓. แก้มลิงขนาดเล็ก (Regulating Reservoir) คือแก้มลิงที่มีขนาดเล็กกว่า อาจเป็นพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานจอดรถหรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง  

การพิจารณาสถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพัก และวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง จะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ 3 โครงการ ด้วยกัน คือ

 

 

-           โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"  

-           โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"

-           โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"

โครงการแก้มลิงนับเป็นนิมิตรหมายอันเป็นสิ่งที่ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า ... " ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่ม ประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่..." 

          ทั้งนี้แก้มลิงที่อยู่ในพื้นที่เอกชน เรียกว่า "แก้มลิงเอกชน" ส่วนที่อยู่ในพื้นที่ของราชการและรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า "แก้มลิงสาธารณะ"

ด้วยพระปรีชาญาณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์  "โครงการแก้มลิง" จึงเกิดขึ้น และช่วยบรรเทาวิกฤต และความเดือดร้อนจากน้ำท่วมรอบกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลให้เบาบางลงไปได้ โดยอาศัยเพียงแค่วิธีการทางธรรมชาติ

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิง

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2558 จาก คลังความรู้เกี่ยวกับน้ำhttp://www.pidthong.org/knowledge-detail.php?id=14&parent_id=1#.VL5IqfmUdqU

เรารักพระเจ้าอยู่หัว หน้าต่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หัวข้อโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 จาก www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com

60 ปี 60 ล้านความดี น้อมเกล้า ถวายในหลวง หัวข้อโครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2558 จาก

 

http://www.soc.soc.go.th/theKing/Royal%20projects/Royal%20projects8.htm   

Sky Bet by bettingy.com
เกี่ยวกับมูลนิธิ
 

เกี่ยวกับมูลนิธิ

ความเป็นมา,วัตถุประสงค์ ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม

โครงการพระราชดำริ
 

โครงการสืบสานแนวพระราชดำริ

โครงการสืบสานแนวพระราชดำริ อ่านเพิ่มเติม

ผลิตภัณฑ์โครงการ
 

โครงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์ ชมพู-ภูคา ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม

บริจาคสมทบทุนมูลนิธิ
 

บริจาคสมทบทุนมูลนิธิ

ช่องทางบริจาคสมทบทุนต่างๆ อ่านเพิ่มเติม