แนวคิดทฤษฏีฟื้นฟูป่า

ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ป่าไม้ของประเทศไทยถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วตามแรงหนุนเนื่องของประชากรที่เพิ่มขึ้นผนวกกับพลังผลักดันทางเศรษฐกิจระบบทุนนิยมเสรีที่มุ่งค้าขาย โดยใช้ป่าเป็นตัวสำคัญเชิงพาณิชย์ การเช่นนี้ก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งเนื่องจากต้นน้ำลำธารถูกทำลาย ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อยามน้ำหลากก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันและมีการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จนเป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร กลายเป็นทุกข์ร้อนของแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวยิ่งนัก โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เริ่มเสด็จเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติเป็นต้นมา


ป่าไม้สาธิต... พระราชดำริเริ่มแรกส่วนพระองค์

ในระยะต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นประจำแทบทุกปี โดยในระยะแรกจะเสด็จฯ ด้วยรถไฟพระที่นั่ง ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมดีขึ้น จึงเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่ง ประมาณปี พ.ศ. 2503-2504 ขณะเสด็จพระราชดำเนินผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี เมื่อรถยนต์พระที่นั่งผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีนั้น มีต้นยางขนาดใหญ่ปลูกเรียงรายทั้งสองข้างทาง จึงได้มีพระราชดำริที่จะสงวนบริเวณป่ายางนี้ไว้ให้เป็นส่วนสาธารณะ แต่ในระยะนั้นไม่อาจดำเนินการได้เนื่องจากต้องจ่ายเงินค่าทดแทนในอัตราที่สูง เพราะมีราษฎรมาทำไร่ทำสวนในบริเวณนั้นจำนวนมาก 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มทดลองปลูกต้นยางด้วยพระองค์เอง โดยทรงเพาะเมล็ดยางในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และได้ทรงปลูกต้นยางนั้นในแปลงป่าไม้ทดลองในบริเวณแปลงทดลองปลูกต้นยางนาพร้อมข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 จำนวน 1,250 ต้น ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดาในลักษณะป่าไม้สาธิต นอกจากนี้ยังได้สร้างพระตำหนักเรือนต้นในบริเวณป่าไม้สาธิตนั้นเพื่อทรงศึกษาธรรมชาติวิทยาของป่าไม้ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งในปี พ.ศ. 2508

 

แนวพระราชดำริด้านป่าไม้: ทรงคิดค้นนานาวิธีที่จะอนุรักษ์ป่าไม้ให้ยืนยง

ทรงสร้างความตระหนักให้มีความรักป่าไม้ด้วยจิตสำนึกร่วมกัน (Awareness and

Sharing Participation) มากกว่าวิธีการใช้อำนาจบังคับ

ณ หน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ ในปี พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการปลูกต้นไม้ 3 ชนิด ที่แตกต่างกัน คือ ไม้ผล ไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ เพื่อจะทำให้เกิดป่าไม้แบบผสมผสานและสร้างความสมดุลแก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของรัฐและวิถีประชาในชุมชนประการสำคัญนั้นมีพระราชดำริที่ยึดเป็นทฤษฎีการพัฒนาด้านป่าไม้โดยปลูกฝังจิตสำนึกแก่ประชาชนว่า

...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็พากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...  นับเป็นทฤษฎีที่เป็นปรัชญาในด้านการพัฒนาป่าไม้ที่ยิ่งใหญ่โดยแท้

ทฤษฎีการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกตามหลักการฟื้นฟูสภาพป่าด้วย วัฏจักรธรรมชาติ

(Natural Reforestations)

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในปัญหาปริมาณป่าไม้ลงเป็นอย่างมาก จึงทรงพยายามค้นหาวิธีนานาประการที่จะเพิ่มปริมาณของป่าไม้ในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นคงและถาวร โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริหลายวิธี คือ

 

ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ด้วยวิธีการ 3 วิธี คือ

·         ...ถ้าเลือกได้ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว...

·         ....ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น..

·         ...ในสภาพป่าเต็งรัง ป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ก็จะแตกกิ่งออกมาอีกถึงแม้ต้นไม่สวยแต่ก็เป็นไม้ใหญ่ได้…

 

ปลูกป่าในที่สูง ทรงแนะนำวิธีการ ดังนี้

·         ...ใช้ไม้จำพวกที่มีเมล็ดทั้งหลายขึ้นไปปลูกบนยอดที่สูง เมื่อโตแล้วออกฝักออกเมล็ดก็จะลอยตกลงมาแล้วงอกเองในที่ต่ำต่อไป เป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ...

 

ปลูกป่าต้นน้ำลำธาร หรือ การปลูกป่าธรรมชาติ ทรงเสนอแนวทางปฏิบัติว่า

ปลูกต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิม คือ...ศึกษาดูก่อนว่าพืชพันธุ์ไม้ดั้งเดิมมีอะไรบ้าง แล้วปลูกแซมตามรายการชนิดต้นไม้ที่ศึกษาได้...

งดปลูกไม้ผิดแผกจากถิ่นเดิม คือ ...ไม่ควรนำไม้แปลกปลอมต่างพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาปลูกโดยยังไม่ได้ศึกษาอย่างแน่ชัดเสียก่อน...


การปลูกป่าทดแทน

ในขณะนี้ประเทศไทยเรามีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียงร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศประมาณการได้เพียง 80 ล้านไร่เท่านั้น หากจะเพิ่มเนื้อที่ป่าไม้ให้ได้ประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศแล้ว คนไทยจะต้องช่วยกันปลูกป่าถึง 48 ล้านไร่ โดยใช้กล้าไม้ปลูกไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านต้น ใช้เวลาถึง 20 ปี จึงจะเพิ่มป่าไม้ได้ครบเป้าหมายที่กำหนดไว้เท่านั้น...

การปลูกป่าทดแทนจึงเป็นแนวทฤษฏีการพัฒนาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานมรรควิธีในการปลูกป่าทดแทน เพื่อคืนธรรมชาติสู่แผ่นดินด้วยวิถีทางแบบผสมผสานกันในเชิงปฏิบัติดังพระราชดำริความตอนหนึ่งว่า


...การปลูกป่าทดแทนจะต้องทำอย่างมีแผนโดยการดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาชาวเขาในการนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชลประทาน และฝ่ายเกษตรจะต้องร่วมมือกันสำรวจต้นน้ำในบริเวณพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อวางแผนปรับปรุงต้นน้ำและพัฒนาอาชีพได้อย่างถูกต้อง...

วิธีการปลูกป่าทดแทน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำแนะนำให้มีการปลูกป่าทดแทนตามสภาพภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ที่เหมาะสมกล่าวคือ

 

1.    ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกแผ้วถางและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

...การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจนเป็นภูเขาหัวโล้น แล้วจำต้องปลูกป่าทดแทนเร่งด่วนนั้นควรจะทดลองปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็วคลุมแนวร่องน้ำเสียก่อน เพื่อทำให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า เพราะไฟจะเกิดง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น ในปีต่อไปก็ให้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ถัดขึ้นไป ความชุ่มชื้นก็จะแผ่ขยายกว้างต่อไปอีก ต้นไม้จะงอกงามดีตลอดทั้งปี...

 

2.    การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา

...จะต้องปลูกต้นไม้หลายๆ ชนิด เพื่อให้ได้ประโยชน์อเนกประสงค์ คือ มีทั้งไม้

ผล ไม้สำหรับก่อสร้าง และไม้สำหรับทำฟืน ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ ซึ่งเมื่อตัดไม้ใช้แล้ว ก็ปลูกทดแทนหมุนเวียนทันที...

 

3.    การปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำบนยอดเขาและเนินสูง

...ต้องมีการปลูกป่าโดยปลูกไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎร

สามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย...

 

4.    ให้มีการปลูกป่าที่ยอดเขา เนื่องจากสภาพป่าบนที่เขาสูงทรุดโทรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อลุ่มน้ำตอนล่าง และคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีเมล็ดเป็นฝักเพื่อให้เป็นกระบวนการธรรมชาติปลูกต่อไปจนถึงตีนเขา

 

5.    ปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ หรือเหนืออ่างเก็บน้ำที่ไม่มีความชุ่มชื้นยาวนานพอ

 

 

6.    ปลูกป่าเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำและแหล่งน้ำให้มีน้ำสะอาดบริโภค

 

7.    ปลูกป่าให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยให้ราษฎรในท้องที่นั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการปลูกป่า

 

8.    ปลูกป่าเสริมธรรมชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่า

 

 

บัดนี้ ในหลายโครงการที่เป็นการปลูกป่าทดแทนตามแนวพระราชดำริได้บรรลุผลสัมฤทธิ์น่าพึงพอใจ อาทิเช่น โครงการปลูกป่าชัยพัฒนาแม่ฟ้าหลวง ที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย และที่หนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการปลูกสร้างสวนป่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆ โครงการสวนป่าสิริเจริญวรรษ จังหวัดชลบุรี โครงการปลูกป่าห้วยองคต จังหวัดกาญจนบุรี โครงการปลูกป่าเสริมธรรมชิตในและนอกเขตภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

 

การปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง : การรู้จัดใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยพระปรีชาญาณอย่างชาญฉลาดให้เกิดประโยชน์แก่ปวงชนมากที่สุดยาวนานที่สุดและทั่วถึงกัน

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำการปลูกป่าในเชิงผสมผสาน ทั้งด้านเกษตรวนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมไว้เป็นมรรควิธีปลูกป่าแบบลักษณะเบ็ดเสร็จนั้นไว้ด้วย

 

ลักษณะทั่วไปของป่า 3 อย่าง 

พระราชดำริปลูกป่า 3 อย่างนั้น มีพระราชดำรัส ความว่า ...ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม่หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตามหรือเป็นสวนฟืนก็ตามนั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือ เป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้...

 

ประโยชน์ที่ได้รับ 

 

ในการปลูกป่า 3 อย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชาธิบายถึงประโยชน์ในการปลูกป่าตามพระราชดำริว่า

 

...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย... 

 

และได้มีพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า

 

...การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ...

 

พระราชดำริเพื่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ดำเนินการในหลายส่วนราชการ ทั้งกรมป่าไม้และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกแห่ง คือ การปลูกป่าใช้สอย โดยดำเนินการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วสำหรับตัดกิ่งมาทำฟืนเผาถ่าน ตลอดจนไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างและหัตถกรรมส่วนใหญ่ได้มีการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วเป็นสวนป่า เช่น ยูคาลิปตัส ขี้เหล็ก ประดู่ แค กระถินยักษ์ และสะเดา เป็นต้น

 

วิธีการปลูกป่าเพื่อทดแทนหมุนเวียน

 

นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกป่าเพื่อใช้ทำฟื้นว่า

 

...การปลูกป่าสำหรับใช้เป็นฟืนซึ่งราษฎรจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ ในการนี้จะต้องคำนวณเนื้อที่ที่จะใช้ปลูก เปรียบเทียบกับจำนวนราษฎรตลอดจนการปลูกและตัดต้นไม้ไปใช้ จะต้องใช้ระบบหมุนเวียนและมีการปลูกทดแทน อันจะทำให้มีไม้ฟืนสำหรับใช้ตลอดเวลา

 

พระราชดำริ ป่าเปียก ทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้โดยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิด

 

ประโยชน์สูงสุดในการสร้างแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break)

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงคุณค่าอเนกอนันต์ของน้ำเป็นยิ่งนัก ทรงคำนึงว่าทุกสรรพสิ่งในสภาพแวดล้อมของมนุษย์นั้นจะเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ หากรู้จักนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ เฉกเช่นเดียวกับพระราชดำริ ป่าเปียก เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่านั้น จึงเป็นมรรควิธีที่ทรงคิดค้นขึ้น จากหลักการที่แสนง่ายแต่ได้ประโยชน์มหาศาล กล่าวคือ ยามที่เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นคราใดผู้คนส่วนใหญ่ก็มักคำนึงถึงการแก้ปัญหาด้วยการระดมสรรพกำลังกันดับไฟป่าให้มอดดับอย่างรวดเร็ว แต่แนวทางป้องกันไฟป่าระยะยาวนั้นยังจะเลือนรางในการวางระบบอย่างจริงจัง พระราชดำริป่าเปียกจึงเป็นแนวพระราชดำริหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำการศึกษาทดลองจนได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

 

วิธีการสร้าง ป่าเปียก

 

วิธีการแรก : ทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่างๆ ปลูกตามแนวคลองนี้

 

วิธีที่สอง : สร้างระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก โดยอาศัยน้ำชลประทานและน้ำฝน

 

วิธีที่สาม : โดยการปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้นและแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่าเพราะไฟป่าจะเกิดขึ้นง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น

 

วิธีที่สี่ : โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือที่เรียกว่า Check Dam ขึ้น เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองด้านกลายเป็น ป่าเปียก

 

วิธีที่ห้า : โดยการสูบน้ำเข้าไปในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วปล่อยน้ำลงมาทีละน้อยให้ค่อยๆ ไหลซึมดิน เพื่อช่วยเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่สูงในรูป ภูเขาป่า ให้กลายเป็น ป่าเปียก ซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย

 

วิธีที่หก : ปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นช่องว่างของป่า ประมาณ 2 เมตร หากเกิดไฟไหม้ป่าก็จะปะทะต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชอื่นทำให้ลดการสูญเสียน้ำลงไปได้มาก

 

แนวพระราชดำริป่าเปียก จึงนับเป็นทฤษฎีการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความชุ่มชื้นเป็นหลักสำคัญที่จะช่วยให้ป่าเขียวสดอยู่ตลอดเวลาไฟป่าจึงเกิดได้ยากการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สามารถทำได้ง่ายและได้ผลดียิ่ง

 

พระราชดำริ ภูเขาป่า : ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความรู้เบื้องต้น

 

ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นหลักการดำเนินการ

 

การสร้างภูเขาป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นมรรควิธีหนึ่งที่พระราชทานแนวคิดอันเป็นทฤษฎีการพัฒนา อันเป็นมิติใหม่แก่วงการป่าไม้ 2 ประการ คือ

 

ประการแรก หากมีน้ำใกล้เคียงบริเวณนั้นโดยมีพระราชดำรัสว่า

 

...ควรสำรวจแหล่งน้ำเพื่อการพิจารณาสร้างฝายขนาดเล็กปิดกั้นร่องน้ำในเขตต้นน้ำลำธารทั้งนี้เพื่อแผ่กระจายความชุ่มชื้นออกไปให้กว้างขวางอันจะช่วยฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณที่สูงให้สมบูรณ์ขึ้น บริเวณดังกล่าวจะได้กลายเป็น ภูเขาป่า ในอนาคตซึ่งหมายความว่ามีต้นไม้นานาชนิด ซึ่งปกคลุมดินในอัตราหนาแน่นที่เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศแต่ละแห่ง ต้นไม้เหล่านั้นจะมีผลช่วยรักษาระดับความชุ่มชื้นในธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะไม่แห้งแล้งเกินไป และยังช่วยยึดผิวดินอันมีค่าไม่ให้ถูกน้ำเซาะทลายลงมายังพื้นที่ราบอีกด้วย...

 

ประการที่สอง หากไม่มีแหล่งน้ำในพื้นที่เพื่อฟื้นฟูป่าไม้ในบริเวณภูเขาเสื่อมโทรม มีพระราชดำรัสว่า

 

...ให้พิจารณาส่งน้ำขึ้นไปยังจุดที่สูงที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจ่ายน้ำลงไปหล่อเลี้ยงกล้าไม้อ่อนที่ปลูกทดแทนไว้บนภูเขาได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งซึ่งกล้าไม้มักมีอัตราสูญเสียค่อนข้างสูง เมื่อกล้าไม้เจริญเติบโตพอสมควรจนสามารถทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งได้แล้วในอนาคตภูเขาในบริเวณดังกล่าวก็จะคืนสภาพเดิมเป็นภูเขาป่าที่จะมีความชุ่มชื้นพอสมควร ตลอดจนจะช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในตอนล่างไม่ให้กลายเป็นดินแดนแห้งแล้ง...

 

ซึ่งต่อมาได้พระราชทานพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า

 

....จะต้องพยายามสูบน้ำขึ้นไปทีละชั้นจนถึงระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยพิจารณาใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์กับพลังงานลม ซึ่งมีใช้งานอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อจะได้มิเปลืองเชื้อเพลิง เมื่อนำน้ำขึ้นไปพัก ณ ระดับสูงสุดได้แล้ว จะสามารถปล่อยน้ำให้ค่อยๆ ไหลซึมลงมา เพื่อช่วยเร่งรัดการปลูกป่าไม้ที่มีทั้งพันธุ์ไม้ป้องกันกับไม้โตเร็ว นอกจากนั้นยังจะแปรสภาพโครงการภูเขาป่า ให้เป็นป่าเปียกซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย...

 

ภูเขาป่าที่เขียวขจีจากแนวพระราชดำรินี้สามารถพบเห็นและเข้าศึกษาวิธีการอนุรักษ์และพัฒนาป่าไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนะให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายแห่งด้วยกัน โดยเฉพาะที่เด่นชัด คือ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 

 

 

แนวพะราชดำริทฤษฎีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้โดยการใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวย

 สัมพันธ์ซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด : Check Dam

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างยิ่งทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่ง กล่าวคือ ปัญหาที่สำคัญที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น น้ำ คือ สิ่งที่ขาดไม่ได้โดยแท้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำ หรือเรียกว่า Check Dam หรืออาจะเรียกขานกันว่า ฝายชะลอความชุ่มชื้น ก็ได้เช่นกัน

 

Check Dam คือ สิ่งก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลเทลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่างนับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชาธิบายว่า การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น

 

...จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย...

 

ในส่วนของรูปแบบและลักษณะ Check Dam นั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า

 

...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...

 

ประเภทของ Check Dam นั้น ทรงแยกออกเป็น 2 ประเภท ดังพระราชดำรัส คือ

 

...Check Dam มี 2 อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้นรักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่...

 

จึงอาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้น ประเภทแรก คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็นฝายดักตะกอนนั่นเอง การสร้าง Check Dam พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า

 

...สำหรับ Check Dam ชนิดป้องกันไม่ให้ทรายลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึก เพราะทรายลงมากจะกักเก็บไว้ ถ้าน้ำตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ได้ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไรไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป...

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ

 

...ให้ดำเนินการสำรวจหาทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูงที่ใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นจะต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ปริมาณมากพอสมควรเป็นเวลานาน 2 เดือน...การเก็บรักษาน้ำสำรองได้นานหลังจากฤดูฝนผ่านไปแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงและประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรงและโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้...

 

Check Dam ตามแนวพระราชดำริ กระทำได้ 3 รูปแบบ คือ

 

1. Check Dam แบบท้องถิ่นเบื้องต้น เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น กิ่งไม้ และท่อนไม้ล้มขอนนอนไพร ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในลำห้วย ซึ่งเป็นการก่อสร้างแบบง่ายๆ ก่อสร้างในบริเวณตอนบนของลำห้วยหรือร่องน้ำซึ่งจะสามารถดักตะกอน ชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณรอบฝายได้เป็นอย่างดี วิธีการนี้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยมาก หรืออาจไม่มีค่าใช้จ่ายเลยนอกจากใช้แรงงานเท่านั้น

 

การก่อสร้าง Check Dam แบบง่ายนี้ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

 

ก่อสร้างด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยหิน

 

ก่อสร้างด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยถุงบรรจุดินหรือทราย

 

ก่อสร้างแบบคอกหมูแกนดินอันขนาบด้วยหิน

 

ก่อสร้างแบบเรียงด้วยหินแบบง่าย

 

ก่อสร้างแบบคอกหมูหินทิ้ง

 

ก่อสร้างแบบหลักคอนกรีตหินทิ้ง

 

ก่อสร้างแบบถุงทรายซีเมนต์

 

ก่อสร้างแบบคันดิน

 

ก่อสร้างแบบคอกหมูถุงทรายซีเมนต์

 

ก่อสร้างแบบหลักไม้ไผ่สานขัดกัน อันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน

 

Check Dam แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร ก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนัง

 

กั้นน้ำก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งได้บางส่วน

 

3. Check Dam แบบคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นการก่อสร้างแบบถาวรส่วนมากจะดำเนินการในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี ค่าก่อสร้างเฉลี่ยประมาณ 40,000-50,000 บาท แล้วแต่ขนาดของลำห้วยซึ่งควรมีความกว้างไม่เกิน 4 เมตร

 

ข้อคำนึงในการสร้าง Check Dam

 

1. ควรสำรวจสภาพื้นที่ วัสดุก่อสร้างตามธรรมชาติ และรูปแบบ Check Dam ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศมากที่สุด

 

2. ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงให้มากพอที่จะไม่เกิดการพังทลายเสียหายยามที่ฝนตกหนักและกระแสน้ำไหลแรง

 

3. ควรก่อสร้างในพื้นที่ที่ช่องลำห้วยมีความลาดชันต่ำ เพื่อที่จะได้ Check Dam ในขนาดที่ไม่เล็กเกินไป อีกทั้งยังสามารถกักน้ำและตะกอนได้มากพอสมควร และในลำห้วยที่มีความลาดชันสูงก็ควรสร้าง Check Dam ให้ถี่ขึ้น

 

4. วัสดุก่อสร้าง Check Dam ประเภทกิ่งไม้ ท่อนไม้ ที่นำมาใช้ในการสร้างจะต้องระมัดระวังใช้เฉพาะไม้ล้มขอนนอนไพรเป็นลำดับแรกก่อนที่จะใช้กิ่งไม้ ท่อนไม้จากการริดกิ่ง ถ้าจำเป็นให้ใช้น้อยที่สุด

 

5. ถ้าสร้าง Check Dam แบบคอกหมูแกนดินอันแน่น ควรมีทางระบายน้ำด้านข้างเพื่อป้องกันน้ำกัดชะสันฝายจากการที่มีฝนตกหนักจนมีน้ำหลากมาก

 

6. ควรปลูกยืนต้นยึดดินบนสันฝาย เช่น ไคร้น้ำ หรือไม้ชนิดอื่นๆ ที่สามารถขึ้นได้ดีบนที่ชื้น

 

7. ควรดำเนินการก่อสร้าง Check Dam หลังฤดูฝนหรือหลังน้ำหลาก และทุกปีควรมีการบำรุงรักษา ขุดลอกตะกอน ซ่อมแซมสันฝายและทางระบายน้ำล้นอยู่เป็นประจำ

  

แนวทางที่เหมาะสมในการสร้าง Check Dam

 

ก่อนดำเนินการควรสำรวจร่องน้ำลำห้วยในพื้นที่ที่มีปัญหาการพังทลายของดิน หรือปัญหาพื้นที่ขาดความชุ่มชื้น โดยพิจารณาถึงความลาดชันของร่องน้ำและสำรวจหาข้อมูลปริมาณน้ำไหลในร่องน้ำมาใช้ประกอบการเลือกตำแหน่งสร้าง Check Dam ดังนี้

 

1. ในพื้นที่ลาดชันสูง ในกรณีที่ความกว้างของลำห้วยไม่เกิน 2 เมตร ควรสร้างฝายผสม ใช้วัสดุธรรมชาติ ไม้ท่อน หิน ถุงบรรจุดินหรือทรายแต่ถ้าความกว้างของลำห้วยมากกว่า 2 เมตร หรือในลำห้วยมีน้ำมาก ควรเพิ่มโครงสร้างของ Check Dam เป็นแบบคอกหมูที่มีโครงสร้างหลายระดับมากน้อยตามปริมาณน้ำ

 

2. ในพื้นที่ลาดชันปานกลาง ควรสร้าง Check Dam แบบคอกหมูหรือแบบท้องถิ่นของชาวบ้าน ถ้าเป็นแบบคอกหมูให้ใช้หินเรียงหรือกระสอบทรายผสมซีเมนต์ขนาบโครงสร้าง

 

3. ในพื้นที่ลาดชันต่ำ ในกรณีที่มีน้ำมากควรสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กแต่ถ้ามีน้ำไม่มากนักและความกว้างไม่เกิน 2 เมตร อาจใช้ถุงทรายผสมซีเมนต์ได้

  

นานาประโยชน์จาก Check Dam อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

1. ช่วยลดการพังทลายของดินและลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น ความชุ่มชื้นมีเพิ่มขึ้น และแผ่ขยายกระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของลำห้วย

 

2. ช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วยได้ดี เป็นการช่วยยืดอายุแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง คุณภาพของน้ำมีตะกอนปะปนน้อยลง

 

3. เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่ จากการที่ความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้น ความหนาแน่นของพันธุ์พืชก็ย่อมจะมีมากขึ้น

 

4. การที่สามารถทำให้เกิดเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ตลอดจนนำไปใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย

 

Check Dam จึงนับเป็นพระราชดำริที่เป็นทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้ที่ยังประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติทั้งมวล

 

 

 

ทฤษฎีการอนุรักษ์และพัฒนา ป่าชายเลน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ : แนว

 

ทางการสร้างวงจรของระบบนิเวศน์ด้วยการปกปักอนุรักษ์และขยายพันธุ์ไม้ป่าชายเลน

 

ป่าชายเลน เรียกชื่อกันหลายอย่างว่า ป่าชายเลนน้ำเค็ม และป่าเลน หรือบางแห่งเรียก ป่าโกงกาง เป็นป่าที่เกิดขึ้นตามชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำของประเทศไทย ลักษณะของป่าชนิดนี้เป็นป่าไม้ผลัดใบ มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นแต่ละชนิดมีรากค้ำยัน หรือรากหายใจแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของต้นไม้นั้นๆ

 

ตลอดแนวชายฝั่งทะเลไทยยาวประมาณ 2,600 กิโลเมตร มีส่วนที่เป็นป่าชายเลนอยู่เพียงประมาณร้อยละ 36 ของความยาวชายฝั่งเท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนอยู่ประมาณ 1,679,335 ไร่ โดยลดลงประมาณเกือบร้อยละ 50 จากที่เคยมี 2,229,375 ไร่ ในปี พ.ศ. 2504 ป่าชายเลนในประเทศไทยขึ้นอยู่กระจัดกระขายตามชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และด้านทะเลอันดามัน

 

การบุกรุกทำลายป่าชายเลนดำเนินการอย่างต่อเนื่องและรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เฉลี่ยปี พ.ศ. 2522-2529 ป่าชายเลนลดลงปีละ 81,142 ไร่ สภาพป่าชายเลนโดยทั่วๆ ไป พบว่า ทางภาคใต้ของประเทศไทยแถบฝั่งทะเลอันดามันมีสภาพค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ส่วนทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยและภาคกลางบริเวณปากอ่าวไทยมีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม ประกอบด้วยไม้ขนาดเล็กและถูกรบกวนจากมนุษย์ในการเปลี่ยนสภาพป่าชายเลนเป็นนากุ้ง นาเกลือ และแหล่งอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับภาคตะวันออก การทำนากุ้งได้ส่งผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ป่าชายเลนยังถูกทำลายด้วยเหตุอื่นอีกเช่น การทำเหมืองแร่ การเกษตรกรรมบางประเภท การขยายตัวของชุมชน การสร้างท่าเทียบเรือ การสร้างถนนและพาดสายไฟฟ้า รวมทั้งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ ทำให้จำนวนป่าชายเลนลดลงอย่างที่มิอาจประมาณการได้

 

ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงปัญหาและความสำคัญยิ่งของป่าชายเลนดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ในพระราชพิธีแรกนาขวัญหว่านข้าวในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 สรุปแนวพระราชดำริว่า

 

....ป่าชายแลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทยเรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไป โดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกางเป็นไม้ชายเลนที่แปลกและขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป...

การสนองพระราชดำริด้านอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลน

 

โครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนในเขตพื้นที่เป้าหมายของจังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี นับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่บังเกิดขึ้นด้วยกระแสพระราชดำริร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 โดยได้พระราชทานพระราชกระแสกับหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้ร่วมกันเป็นแกนกลางในการดำเนินการปลูกป่าพระราชทานแก่ประชาชนทั้งมวล ในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเฉลิมสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยทรงตั้งมั่นในพระราชหฤทัยที่จะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้มีสภาพยั่งยืนถาวรยาวนาน

 

การดำเนินการปลูกป่าชายเลน ป่าพระราชทานมูลนิธิชัยพัฒนา-มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จังหวัดสงขลา และปัตตานีนั้น มีองค์กรที่ทำหน้าที่ประสานงานทั้งภาครัฐและเอกชน คือ มูลนิธิโททาล (Total) สถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินการปลูกป่าชายเลนภายใต้โครงการย่อย 3 โครงการ คือ

 

โครงการชุมชนพัฒนาป่าชายเลน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

 

โครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

 

โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูป่าชายเลน อำเภอหนองจิก

 

จังหวัดปัตตานี

  

โครงการชุมชนพัฒนาป่าชายเลน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

 

เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ที่จะทำการพัฒนาชุมชนให้มี่ความสำนึกตระหนักในความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนนี้เคยพึ่งพิงอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทยมาเป็นเวลาช้านาน

 

รูปแบบของการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนที่ตำบลหัวเขา จึงเป็นอีกมิติหนึ่งของการพัฒนาป่าไม้ที่อาศัยความเกี่ยวพันและเกื้อกูลซึ่งกันและกันของมนุษย์และธรรมชาติ

 

วัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ

 

1. รักษาสภาพแวดล้อมและสนับสนุนการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยของชุมชน และเพิ่มผลผลิตของสัตว์น้ำที่จะเสนอทางเลือกของการทำการประมงที่ทางการอนุญาต เช่น อวนลอย

 

2. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับป่าชายเลนที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตและชุมชน ตลอดจนสามารถประสานสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐบาลที่เกี่ยวข้องได้อย่างคล่องตัว

 

3. เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่าชายเลนและสร้างทัศนคติให้เกิดความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน

 

การปลูกป่าชายเลนที่ตำบลหัวเขา ใช้วิธีการหลายรูปแบบในการดำเนินงาน อาทิเช่น

 

- สร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนยอมรับปฏิบัติและร่วมงานปลูกป่า โดยใช้วิธีการปลูกฝังจิตสำนึกสร้างความคุ้นเคยและประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

 

- จัดการประชุมปรึกษาร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในการเตรียมงานการปลูกป่า ซึ่งทางชุมชนได้จัดสร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ และหากล้าไม้มาร่วมกันปลูกป่าชายเลนกับส่วนราชการ ภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ อย่างเต็มที่

 

- มีการรวมตัวกันของประชาชนก่อตั้ง ชมราอนุรักษ์ป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา ขึ้นโดยมีคณะกรรมการของชมรมประกอบด้วยสมาชิกทั้ง 8 หมู่บ้านของตำบลหัวเขา ร่วมกันดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น

 

- การดูแลรักษาเรือนเพาะชำ

 

- การกั้นรั้วบริเวณเขตป่า

 

- การทำความเข้าใจกับชาวประมงในการดูแลรักษาป่า

 

บัดนี้การปลูกป่าชายเลนโดยประชาอาสานี้ได้มีการปลูกป่าชายเลนร่วมกันอย่างสม่ำเสมอเป็นครั้งคราวตามโอกาสและวาระอันควร และได้ปลูกป่าชายเลนไปแล้วประมาณ 300 ไร่

 

พระราชดำริด้านป่าชายเลน จึงเป็นบทพิสูจน์ว่ามีคุณค่าสมควรที่จะอนุรักษ์และพัฒนาไว้เป็นอย่างยิ่ง

 

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง

 

ตั้งอยู่ที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีป่าชายเลนผืนใหญ่มีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 9,080 ไร่ สภาพป่าทั่วไปจัดได้ว่าเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์มากและยังประโยชน์แก่ชุมชนรอบด้านทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของกุ้ง หอย ปู ปลา ที่อุดมสมบูรณ์และชุกชุมเป็นอย่างมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม มีอาชีพทำการประมงขนาดเล็กโดยอาศัยทำกินในป่าแห่งนี้ รวมทั้งมีการใช้พื้นที่บางส่วนเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังตามลำแม่น้ำ ลำคลอง ตลอดจนเลี้ยงกุ้งกุลาดำหลังแนวเขตป่านี้ด้วย

 

การจัดทำโครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพในด้านการัดการและสงวนรักษาป่าชายเลน โดยมีเจตนารมณ์ที่จะให้ทุกฝ่ายมีความรู้ ความเข้าใจในสภาพสมดุลตามธรรมชาติของป่าชายเลน และสร้างความร่วมมือรวมพลังกันระหว่างชุมชนและนักวิชาการที่จะผดุงรักษาป่าชายเลนไว้ให้ยั่งยืนนาน

 

การจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน จะทำหน้าที่เสริมสร้างการเรียนรู้แก่ประชาชนให้เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของบริเวณที่ชุมชนอาศัยอยู่ และร่วมคิดหาแนวทางส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เช่น การร่วมกันปลูกป่าชายเลนให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ให้มีการจัดการด้านป่าชายเลนที่ถูกต้องเหมาะสมกับท้องถิ่น เป็นต้น ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับป่าชายเลนได้รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการด้านป่าชายเลนแก่สาธารณชนทั่วไป

 

การจัดสร้างศูนย์ธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่งนี้ ได้ดำเนินการออกแบบที่ตระหนักถึงการให้ความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติและความกลมกลืนที่ไม่กระทบกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นดั้งเดิมทางเดินป่าชายเลนยะหริ่ง (The Mangrove Trail) ยาวประมาณ 1,500 เมตร คือเป้าหมายที่จะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ด้วยการเข้าไปทำการสำรวจและสัมผัสธรรมชาติป่าชายเลนได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะสร้างความประทับใจและรู้แจ้งเห็นจริงในการศึกษาด้านนี้โดยตรง เนื่องจากทางเดินธรรมชาติจะผ่านจุดแสดงข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจในป่าชายเลนโดยมีคำอธิบายการดำรงอยู่ของระบบนิเวศน์ป่าชายเลนให้เข้าใจอย่างแจ่มชัด ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาและอนุรักษ์ป่าชายเลนในแหล่งอื่นต่อไป

  

โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูป่าชายเลน อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

 

สภาพพื้นที่แห่งนี้เป็นสภาพป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมมาก แม้กรมป่าไม้ได้พยายามฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 12 ปีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้บริเวณดังกล่าวนี้ปราศจากการที่ป้องกันลม ที่จะลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะทำการฟื้นฟูปลูกป่าชายเลนได้นั้นมีเพียง 213 ไร่ และปัจจุบันได้เพิ่มความพยายามในการค้นหาแนวทางพัฒนาฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพอุดมสมบูรณ์ดังเดิมด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การขุดแพรกเพื่อให้น้ำหล่อดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น

 

ทฤษฎีการพัฒนาป่าชายเลนอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเป็นหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานเพื่อความผาสุกสมบูรณ์แก่แผ่นดินไทยอย่างแท้จริง

 

ป่าชายเลนหลายแห่งของประเทศไทยจึงบังเกิดขึ้นในลักษณะที่คืนสู่ธรรมชาติพิสุทธิ์อันสมบูรณ์ดังเดิม เช่น ป่าชายเลนที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ป่าชายเลนที่จังหวัดระนอง พังงา และสตูลรวมทั้งที่จังหวัดเพชรบุรีและสมุทรสงครามคงเป็นบทพิสูจน์ถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงสอดส่องในสิ่งแวดล้อมของพระมหากษัตริย์ไทยนักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้

  

การอนุรักษ์และพัฒนา ป่าพรุ ทฤษฎีการพัฒนาโดยหลักการที่ทรงเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติด้วยการปรับปรุงสภาพป่าให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศน์มากที่สุด

 

ป่าพรุ เป็นป่าไม้ทึบ ไม้ผลัดใบประเภทหนึ่ง ซึ่งเหลืออยู่เพียงผืนเดียวในภาคใต้ของประเทศไทย มีลักษณะเด่นชัด คือ เป็นป่าดงดิบที่มีน้ำท่วมขังทั่วทั้งบริเวณ ป่าพรุเกิดจากธรรมชาติสร้างขึ้นโดยสาเหตุที่คลื่นลมทะเลซัดดินทรายชายฝั่งปิดกั้นเป็นแนวสันเขื่อนจนกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เมื่อซากพืชหล่นทับถมมากขึ้นในน้ำแช่ขังนี้ ก็จะเกิดปฏิกิริยาให้เกิดน้ำและดินเปรี้ยวตามลำดับ

 

ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าพรุรวมทั้งสิ้น 4,000,000 ไร่ ป่าพรุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่กระจายอยู่ในแนวเหนือใต้ด้านตะวันออกของพื้นที่จังหวัด มีเนื้อที่ประมาณ 290,000 ไร่ ประกอบด้วยพรุขนาดใหญ่ 3 แห่ง

 

พรุโต๊ะแดง

 

พรุบาเจาะ

 

พรุกาบแดง

 

พรุโต๊ะแดงจัดได้ว่าเป็นพรุที่มีสภาพป่าพรุซึ่งยังคงสภาพไว้อย่างสมบูรณ์และมี

 

ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 216,500 ไร่ พื้นที่ป่าติดต่อกันเป็นป่าขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอ พื้นที่ป่าพรุในจังหวัดนราธิวาสทั้งหมดนี้ประกอบด้วย

 

ป่าพรุที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ 60,525 ไร่

 

ป่าพรุเสื่อมโทรม 33,525 ไร่

 

ป่าเสม็ดขาว 91,250 ไร่

 

ทุ่งหญ้า 61,350 ไร่

 

พื้นที่กสิกรรม 27,275 ไร่

 

พื้นที่อื่นๆ (หมู่บ้าน ป่าละเมาะและแม่น้ำ) 16,075 ไร่

 

พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกบุกเบิกเพื่อนำมาใช้ในการเกษตร แต่เนื่องจากพื้นที่พรุใน

 

จังหวัดนราธิวาสมีลักษณะทางกายภาพที่ไม่เหมาะสมอยู่หลายประการ ดังนั้นการพัฒนาดังกล่าวจึงดำเนินการไปด้วยความยากลำบากและยังประโยชน์ไม่เต็มที่หากยังใช้ประโยชน์โดยปราศจากการจัดการที่เหมาะสม สภาพแวดล้อมของพื้นที่พรุก็ยิ่งจะมีแนวโน้นสูงขึ้นในการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมโทรมได้ง่าย

 

ที่มาของแนวพระราชดำริพัฒนาและฟื้นฟูป่าพรุ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้ส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันศึกษาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอันสืบเนื่องมาจากพรุซึ่งในระยะแรกของการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ในปี พ.ศ. 2517 ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ในหน้ามรสุมราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากมีน้ำไหลบ่าลงมาท่วมพรุเข้าไร่นาเสียหาย จึงมีพระราชดำริเพื่อความร่วมมือกันระบายน้ำจากพรุธรรมชาติทั้งหลายนี้ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด การระบายน้ำออกจากพรุทำให้ทรงพบว่ามีสภาพดินเปรี้ยวเกิดขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง กระทั่งเมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นในปี พ.ศ. 2525 จึงได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานในการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน

 

การสนองพระราชดำริด้วยการกำหนดเขตการใช้ที่ดินในบริเวณพื้นที่ป่าพรุ

 

สืบเนื่องจากที่ราษฎรส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ป่าพรุอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการทำให้พื้นที่ป่าพรุบางแห่งเสื่อมโทรมจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป ต้องปล่อยทิ้งร้างไว้ตามสภาพธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะราษฎรที่อาศัยอยู่รอบพื้นป่า โดยทั่วไปมีฐานะทางเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรให้ผลผลิตต่ำมาก ราษฎรก็ไม่มีความรู้ในการที่จะแก้ไขพื้นที่นั้นให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ การพัฒนาจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กำหนดเขตการใช้ที่พื้นที่ดินบริเวณพื้นที่พรุในจังหวัดนราธิวาส เพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกเป็น 3 เขต คือ

 

1. เขตป่าสงวน (Preservation Zone) เป็นบริเวณพื้นที่พรุที่ยังคงสภาพเป็นป่าธรรมชาติอย่างสมบูรณ์และยังไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์ เนื่องที่ประมาณ 56,907 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของพรุโต๊ะแดง ในเขตอำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโก-ลก และพื้นที่ทางตอนใต้ของพรุบาเจาะในเขตอำเภอเมืองและอำเภอยี่งอ ปกติพื้นที่ป่ามีน้ำท่วมขังเกือบตลอดปีในฤดูฝนระดับน้ำท่วมสูงสุด 2-3 เมตร พื้นที่ป่ามีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ ต้นไม้ส่วนใหญ่แตกรากค้ำยันหรือเป็นพูพอน พื้นที่ป่ามีใบไม้กิ่งไม้แห้งทับถมกันจนมีลักษณะเป็นเนินสูงขึ้นมาจากพื้นที่ป่าทั่วไป พื้นป่ามีระดับสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน 8 เมตร ดินเป็นดินอินทรีย์ ลึกลงไปเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบไพไรท์สะสมอยู่เป็นปริมาณมาก ในเขตนี้พืชพรรณธรรมชาติขึ้นเบียดเสียดกันอย่างหนาแน่น มีพันธุ์ไม้ยืนต้นขึ้นปะปนกันอยู่มากกว่าร้อยชนิด โดยมีเรือนยอดอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ 20-30 เมตรพืชพื้นล่างที่ขึ้นอยู่มีทั้งไม้พุ่ม เถาวัลย์ ปาล์ม หวาย และเฟิร์นนานาชนิด

 

2. เขตอนุรักษ์ (Conservation Zone) เป็นบริเวณพื้นที่พรุที่พืชพรรณธรรมชาติถูกทำลายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และยังไม่มีโครงการพัฒนาเข้าไปดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ป่าถูกทำลายโดยการแผ้วถางและไฟไหม้ทำความเสียหายในช่วงปีที่อากาศแล้งจัด มีเนื้อที่ประมาณ 109,938 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านตะวันตกของพรุบาเจาะในเขตอำเภอเมืองและอำเภอระแงะ และบริเวณทุ่งหญ้ารวมป่าพรุโต๊ะแดงในเขตอำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโก-ลก พื้นที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำขังเกือบตลอดปี สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน 8 เมตร ปกติดินเปียกชื้นตลอดปี ในฤดูฝนระดับน้ำสูงจากผิวดินตั้งแต่ 20-30 เซนติเมตร ไปจนถึง 1 เมตร ดินมีทั้งดินอินทรีย์และดินอนินทรีย์ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวจัด สำหรับทางตอนใต้ของพรุโต๊ะแดงเป็นดินอินทรีย์หนาประมาณ 1-3 เมตร ดินชั้นล่างเป็นดินเลนที่มีสารปรกอบกำมะถันสะสมอยู่

 

น้ำที่ท่วมขังอยู่ในบริเวณนี้ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบเป็นกรดจัด สีดำหรือสีน้ำตาลปนดำเนื่องจากมีสารอินทรีย์แขวนลอยปะปนอยู่มาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเสม็ดขาวและพื้นที่ปาพรุที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้มีพืชพวกคมบางย่านลำเท็ง กก กระจูด และพืชพวกหญ้าขึ้นเป็นพืชพื้นล่าง หรือเป็นพื้นที่ซึ่งในอดีตถูกแพ้วถางแล้วถูกปล่อยทิ้งร้างไป ต่อมามีไม้เสม็ดขาว กก กระจูด และพืชพวกหญ้าขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

 

3. เขตพัฒนา (Development Zone) เป็นบริเวณพื้นที่พรุที่ได้มีการระบายน้ำออกไปบ้างแล้วพืชพรรณธรรมชาติดั้งเดิมถูกแผ้วถางจนหมดสิ้น มีพื้นที่ที่ใช้เพื่อกิจกรรมทางด้านเกษตรและมีโครงการพัฒนาต่างๆ เข้าไปดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีเนื้อที่ประมาณ 95,015 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตโครงการสหกรณ์นิคมบาเจาะในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอยี่งอ และอำเภอบาเจาะ และสหกรณ์นิคมปิเหล็งในท้องที่อำเภอตากใบและอำเภอสุไหงโก-ลก บริเวณพรุสะปอมท้องที่อำเภอเมือง และบริเวณพรุกาบแดงในท้องที่อำเภอเมืองคาบเกี่ยวอำเภอตากใบ พื้นที่เหล่านี้ได้จัดสรรที่ดินให้ราษฎรเข้าอยู่อาศัยและทำกินอย่างถาวร ส่วนใหญ่มีโครงการชลประทานเข้าไปดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่งโดยทั่วไปสูงจากระดับน้ำลดลงต่ำกว่าผิวดิน ประมาณ 0.5-1 เมตร บริเวณพรุบาเจาะส่วนใหญ่มีดินอินทรีย์ถมเป็นชั้นหนาไม่เกิน 2.5 เมตร มีลักษณะเป็นกรดจัดและมีคุณภาพทางเกษตรต่ำ ใต้ชั้นดินอินทรีย์ซึ่งทั้งดินและน้ำมีสภาพความเป็นกรดจัด ส่วนบริเวณพรุกาบแดงและพรุสะปอม ดินมีทั้งดินอินทรีย์ และอนินทรีย์ปะปนกันอยู่ส่วนใหญ่

 

การดำเนินงานพัฒนาพื้นที่พรุ

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาและกำหนดเขตการใช้ที่ดินทั้ง 3 เขต ให้มีการดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบผสมผสานให้สอดคล้องกันในหลายด้าน และกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่พรุไว้ดังนี้

 

1. เขตสงวน เป็นเขตที่ดำเนินการสงวนรักษาป่าไม้ไว้อย่างเข้มงวด เพื่อให้สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด หน่อยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง คือ กรมป่าไม้ ปัจจุบันได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแล้ว เมื่อได้มีการตรวจสอบรายละเอียดและประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้วก็จะทำให้การดูแลรักษาพื้นที่เหล่านี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

2. เขตอนุรักษ์ เป็นเขตที่ดำเนินการฟื้นฟูให้กลับเป็นป่าดังเดิม ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นเขตสงวนหรือเปลี่ยนเป็นเขตพัฒนา โดยการใช้พื้นที่กระทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่พรุโดยไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของป่า และจะต้องผ่านการเห็นชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน การดำเนินงานในเขตนี้จึงผันแปรไปได้ตามวัตถุประสงค์ คือ

 

2.1 ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสำรวจพันธุ์พืชการทดแทนของสังคมพืช และระบบนิเวศน์ของป่าพรุทั้งหมด โดยมีกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลัก

 

2.2 ศึกษาพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกป่าทดแทน และศึกษาวิธีการจัดการเพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตได้ดี มีกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลัก

 

2.3 ประชาสัมพันธ์เพื่อป้องกันมิให้มีการบุกรุกทำลายป่าพรุอีกต่อไป ดำเนินการโดยกรมป่าไม้และนิคมสหกรณ์

 

2.4 ในกรณีที่มีการจัดทำโครงการพัฒนาในเขตนี้ ให้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยทุกโครงการ

 

3. เขตพัฒนา เป็นเขตที่กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินงานร่วมกันพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดย

 

3.1 ค้นคว้าวิจัยเพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขสภาพดินและน้ำที่มีปัญหา สำหรับใช้กำหนดเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาต่อไป ดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

3.2 ดำเนินการพัฒนาพื้นที่พรุแบบครบวงจร โดยประกอบด้วยการควบคุมน้ำในพื้นที่ การปรับปรุงดิน การเลือกชนิดพืชที่ปลูก การสหกรณ์และการตลาด

 

3.3 เลือกพื้นที่ดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการของราษฎร โดยพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ เช่น สภาพดิน สภาพน้ำ และสภาพภูมิประเทศ

 

3.4 รัฐเป็นผู้ดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจนแล้วเสร็จ และในระยะแรกรัฐจะจัดหาวัสดุปรับปรุงดินและพันธุ์พืชต่างๆ ให้แก่ราษฎร

 

3.5 รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ และบริหารโครงการพัฒนาที่ดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว

 

การค้นคว้าวิจัยป่าพรุตามพระราชดำริก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ คณะผู้ดำเนินงานสนองพระราชดำริมีความเห็นว่า เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่พรุเป็นไปอย่างสอดคล้องผสมผสานกันทั้งในเรื่องอนุรักษ์และการพัฒนาพื้นที่เขตต่างๆ ในป่าพรุได้ดำเนินการไปพร้อมดันอย่างได้ผลดียิ่ง ส่วนราชการอันประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับกรมป่าไม้ได้รับสนองพระราชดำริ โดยจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับป่าพรุขึ้นบริเวณคลองโต๊ะแดงฝั่งขวา บริเวณบ้านโต๊ะแดง หมู่ที่ 8 ตำบลปูโต๊ะอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และจัดตั้ง ศูนย์ศึกษาวิจัยและธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา ซึ่งศูนย์แห่งนี้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมของป่าพรุอย่างละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์ในลักษณะของเส้นทางเดินธรรมชาติ (Nature Trail) และนิทรรศการความรู้ต่างๆ

 

บัดนี้ป่าพรุได้รับการใช้ประโยชน์อย่างอเนกประสงค์ควบคู่กับการสร้างสมดุลแห่งระบบนิเวศน์ ตามพระราชดำริแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานเพื่อความผาสุกนิรันดร์ของอาณาประชาราษฎร์

 

 

 

 

 

 

 

 

แนวคิดการพัฒนาอาชีพเพื่อพึ่งพาตนเองของเกษตรกร

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการส่งเสริมชุมชนหรือการพัฒนาชนบทที่สำคัญๆ คือ การที่ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนา คือ การที่ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดการพึ่งตนเองได้ของคนในชนบทเป็นหลัก  กิจกรรมและโครงการตามแนวพระราชดำริที่ดำเนินการอยู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศในปัจจุบันนั้นล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การพึ่งตนเองได้ของราษฎรทั้งสิ้น

ในการพัฒนาทั้งด้านอาชีพและส่งเสริมการเกษตร ให้เกษตรกรสามารดำรงชีพอยู่ได้อย่างมั่นคงเป็นปึกแผ่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการแนะนำสาธิตให้ประชาชนดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทเป็นไปตามหลักการพัฒนาสังคมชุมชนอย่างแท้จริง กล่าวคือ ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดการพึ่งตนเองได้ของคนในชนบทเป็นหลัก

ดังนั้น การที่ราษฎรในชนบทสามารถพึ่งตนเองได้มากยิ่งขึ้นนั้น สืบเนื่องจากแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแก่เกษตรกรทั้งหลายประการ

วิธีการพัฒนา

1.  ทรงยึดหลักที่ไม่ใช้วิธีการสั่งการให้เกษตรกรปฏิบัติตาม เพราะไม่อาจช่วยให้คนเหล่านั้นพึ่งตนเองได้ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานโดยไม่ได้เกิดจากความพึงใจ ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

..ดำริ คือ ความเห็นที่จะทำ  ไม่ใช่คำสั่งแต่มันเป็นความเห็น มีทฤษฎีอะไรต้องบอกออกมา ฟังได้ฟัง ชอบใจก็เอาไปได้ ใครไม่ชอบก็ไม่เป็นไร...

2.  ทรงเน้นให้พึ่งตนเองและช่วยเหลือตนเองเป็นหลักสำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมักจะทรงทำหน้าที่กระตุ้นให้เกษตรกรทั้งหลายคิดหาลู่ทางที่จะช่วยตนเอง พึ่งตนเองโดยไม่มีการบังคับการแสวงหาความร่วมมือจากภายนอกต้องกระทำเมื่อจำเป็นจริงๆ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า

...คนทุกคน ไม่ว่าชาวกรุงหรือชาวชนบทไม่ว่ามีการศึกษามากหรือน้อยอย่างไร ย่อมมีจิตใจเป็นอิสระ มีความคิดเห็น มีความพอใจ เป็นของตนเอง ไม่ชอบการบังคับ นอกจากนั้นยังมีขนบธรรมเนียม มีแบบแผนเฉพาะเหล่ากันอีกด้วย...

3.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน (People Participation) เป็นจุดหลักสำคัญในการพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการดำเนินการเช่นนั้น จักช่วยให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในที่สุด ดังเคยมีพระราชดำรัสในวโรกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2501 กับประชาชนชาวไทยทั้งหลายว่า

...ภาระในการบริหารนั้นจะประสบผลด้วยดีย่อมต้องอาศัยความรักชาติ ความซื่อสัตย์สุจริต ความสมัครสมานกลมเกลียวกัน ประกอบกับการร่วมมือของประชาชนพลเมืองทั่วไป ข้าพเจ้าจึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะพยายามปฏิบัติกรณียกิจในส่วนของแต่ละท่านด้วยใจบริสุทธิ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อได้มาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนทั่วไปอันเป็นยอดปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น...

4.  หลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการแนะนำประชาชนเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ ทรงใช้หลักประชาธิปไตยในการดำเนินการ เห็นได้ชัดเจนในทุกคราที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนประชาชนและเกษตรกรร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น  หากเจ้าหน้าที่ทักท้วงสิ่งใดทางวิชาการ กราบบังคมทูลแล้วก็ทรงรับฟังข้อสรุปอย่างเป็นกลาง หากสิ่งใดที่เจ้าหน้าที่กราบบังคมทูลว่าปฏิบัติได้ แต่ผลลัพธ์อาจไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงให้เปลี่ยนแปลงโครงการได้เสมอ เห็นได้ชัดเจนจากพระราชดำรัสศูนย์ศึกาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า

...เป็นสถานที่ที่ผู้ทำงานในด้านพัฒนาจะไปทำอะไรอย่างที่เรียกว่า ทดลอง ก็ได้ และเมื่อทดลองแล้วจะทำให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้นสามารถเข้าใจว่าเขาทำกันอย่างไรเขาทำอะไรกัน...

ได้พระราชทานพระราชาธิบายเพิ่มเติมอีกว่า

...ฉะนั้นศูนย์ศึกษาการพัฒนานี้ ถ้าทำอะไรล้มเหลวต้องไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องถูกลงโทษ แต่เป็นสิ่งที่แสดงว่าทำอย่างนั้นไม่เกิดผล...

5.  ทรงยึดหลักสภาพของท้องถิ่นเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งด้านสภาพแวดล้อม ทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี ของแต่ละท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคของประเทศ เพราะทรงตระหนักดีกว่าการเปลี่ยนแปลงใดที่ดำเนินการโดยฉับพลันอาจก่อผลกระทบต่อค่านิยม ความคุ้นเคย และการดำรงชีพในวิถีประชาเหล่านั้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงพระราชทานแนวคิดเรื่องนี้ว่า

...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศของภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศของสังคมวิทยาคือ นิสัยใจคอของคนเราจะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้วเราเข้าไปดูว่า เขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง...

6.  พระราชดำริที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การสร้างความแข็งแรงให้ชุมชน ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักที่จำเป็นต่อการผลิต อันจะเป็นรากฐานนำไปสู่การพึ่งตนเองได้ในระยะยาว โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ แหล่งน้ำ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำฝนจักได้มีโอกาสที่จะมีผลิตผลได้ตลอดปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ในเรื่องอาหารได้ระดับหนึ่ง และเมื่อชุมชนแข็งแรงพร้อมดีแล้ว ก็อาจจะมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการยกระดับรายได้ของชุมชน เช่น เส้นทางคมนาคม ฯลฯ ซึ่งการพัฒนาในลักษณะที่เป็นการมุ่งเตรียมชุมชนให้พร้อมต่อการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างเป็นขั้นตอนนี้ทรงเรียกว่า การระเบิดจากข้างใน ซึ่งเรื่องนี้พระองค์ทรงอธิบายว่า

...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อนโดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับ...

วิธีการพัฒนาเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองได้นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนะว่าควรจะต้องค่อยๆ กระทำตามลำดับขั้นตอนต่อไป ไม่ควรกระทำด้วยความเร่งรีบซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายได้ ดังที่รับสั่งกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 ว่า

...ในการสร้างความเจริญก้าวหน้านี้ ควรอย่างยิ่งที่จะค่อยสร้างค่อยเสริมทีละเล็กละน้อยให้เป็นลำดับ ให้เป็นการทำไปพิจารณาไป และปรับปรุงไป ไม่ทำด้วยอาการเร่งรีบตามความกระหายที่จะสร้างของใหม่เพื่อความแปลกใหม่ เพราะความจริงสิ่งที่ใหม่แท้ๆ นั้นไม่มี สิ่งใหม่ทั้งปวงย่อมสืบเนื่องมาจากสิ่งเก่าและต่อไปย่อมจะต้องกลายเป็นสิ่งเก่า...

พร้อมกันนี้ในเรื่องเดียวกัน ทรงมีรับสั่งกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 ว่า

...เมื่อมีพื้นฐานหนาแน่นบริบูรณ์พร้อมแล้ว ก็ตั้งตนพัฒนางานต่อไป ให้เป็นการทำไปพัฒนาไปและปรับปรุงไป...

7.  การส่งเสริมหรือสร้างเสริมสิ่งที่ชาวชนบทขาดแคลน และเป็นความต้องการอย่างสำคัญ คือ ความรู้ ด้านต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่า ชาวชนบทควรจะมีความรู้ในเรื่องของการทำมาหากิน การทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมโดยทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ในเรื่องการพึ่งตนเอง ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรในชนบทได้มีโอกาสได้รู้ได้เห็นถึงตัวอย่างของความสำเร็จนี้ และนำไปปฏิบัติได้เองซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ตัวอย่างของความสำเร็จทั้งหลายได้กระจายไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ทั่งประเทศ วิธีการให้ความรู้แก่ประชาชนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในกรพัฒนาว่า

...การใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยในงานต่างๆ นั้น ว่าโดยหลักการควรจะให้ผลมาก ในเรื่องประสิทธิภาพ การประหยัดและการทุ่มแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามก็คงยังจะต้องคำนึงถึงสิ่งอื่นเป็นพื้นฐานและส่วนประกอบของงานที่ทำด้วย อย่างในประเทศของเราประชาชนทำมาหาเลี้ยงตัวด้วยการกสิกรรมและการลงแรงทำงานเป็นพื้น การใช้เทคโนโลยีอย่างใหญ่โตเต็มรูปหรือเต็มขนาดในงานอาชีพหลักของประเทศย่อมจะมีปัญหา เช่นอาจทำให้ต้องลงทุนมากมายสิ้นเปลืองเกินกว่าเหตุ หรืออาจก่อให้เกิดการว่างงานอย่างรุนแรงขึ้น เป็นต้น ผลที่เกิดก็จะพลาดเป้าหมายไปห่างไกลและกลับกลายเป็นผลเสีย ดังนั้น จึงต้องมีความระมัดระวังมากในการใช้เทคโนโลยีที่ปฏิบัติงานคือ ควรพยายามใช้ให้พอเหมาะพอดีแก่สภาวะของบ้านเมืองและการทำกินของราษฎรเพื่อให้เกิดประสิทธิผลด้วย เกิดความประหยัดอย่างแท้จริงด้วย...

8.  ทรงนำความรู้ในด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมเข้าไปถึงมือชาวชนบทอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยทรงมุ่งเน้นให้เป็นขบวนการเดียวกับที่เป็นเทคโนโลยีทางการผลิตที่ชาวบ้านสามารถรับไปและสามารถไปปฏิบัติได้ผลจริง

 

ในทางปฏิบัติเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกใช้เทคนิควิธีการต่างๆ หลายประการเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ทรงมุ่งหวังดังกล่าวนั้นมีหลายแนวทาง เช่น

ก. การรวมกลุ่มประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาหลักของชุมชนชนบท  ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาพึ่งตนเอง โดยเฉพาะการรวมตัวกันเป็นรูปของสหกรณ์ ดังนั้น ในทุกพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนิน และมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นมาไม่ว่าลักษณะใด จะทรงเน้นเสมอถึงความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่รวมกัน หรือเพื่อให้การทำมาหากินของชุมชยโดยส่วนรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด จนเห็นได้ว่า กลุ่มสหกรณ์ในโครงการพระราชดำริที่ประสบความสำเร็จหลายโครงการนั้นพัฒนาขึ้นมาจากการรวมตัวกันของราษฎรกลุ่มเล็กๆ เช่น สหกรณ์หุบกระพงเกิดจากกลุ่มเกษตรกรที่ทำสวนผักในย่านนั้นเป็นต้น

ข.  การส่งเสริมโดยกระตุ้นผู้นำชุมชนให้เป็นผู้นำในการพัฒนาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทรงใช้ในบางพื้นที่ตามความเหมาะสม ทรงพิจารณาผู้นำโดยเน้นในด้านคุณธรรม ความโอบอ้อมอารี ความเป็นคนในท้องถิ่นและรักท้องถิ่น จากนั้นทรงอาศัยโครงสร้างสังคมไทย โดยเฉพาะระบบอุปถัมภ์กระตุ้นให้ผู้นำชุมชนที่มักจะมีฐานะดี ให้เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์ความเจริญให้กับท้องถิ่น โดยชาวบ้านที่ยากจนให้ความสนับสนุนร่วมมือ ซึ่งในที่สุดแล้วผลแห่งความเจริญที่เกิดขึ้นจะตกแก่ชาวบ้านในชุมชนนั้นทุกคน ดังพระราชดำริที่ว่า

...ในการทำงานทั้งปวงนั้น ทุกคนจะต้องตั้งใจจริง อดทนและขยันหมั่นเพียร ซึ่งตรงเห็นอกเห็นใจกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน มีเมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ยึดมั่นในสามัคคีธรรม ความสุจริตทั้งในความคิดและการกระทำ ถือเอาความมั่นคงและประโยชน์ร่วมกันเป็นจุดหมายสำคัญ...

ค.  การส่งเสริมการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองนั้นจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อนที่จะให้เกิดผลในทางความเจริญอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญที่มีพระราชดำริอยู่เสมอ คือ ชุมชนจะต้องพึ่งตนเองได้ในเรื่องอาหารก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อยก้าวไปสู่การพัฒนาในเรื่องอื่นๆ การขยายการผลิตเพื่อการค้าใดๆ ก็ตาม ทรงมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความพร้อมในด้านการตลาด โดยเฉพาะในด้านความรู้เบื้องตนเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีธุรกิจการเกษตรของชาวบ้านอย่างง่ายๆ อีกด้วย ซึ่งในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่กรรมการ กปร. และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ณ ศาลาดุสิดาลัย ความตอนหนึ่งว่า

...ในด้านหนึ่งที่ไม่เคยคิดกัน ในด้านการพัฒนา เช่น เจ้าหน้าที่บัญชี ถ้าหากว่าทำการเพาะปลูก ชาวบ้านทำการเพาะปลูก เมื่อมีผลแล้วเขาบริโภคเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ขายเพื่อให้ได้ มีรายได้ แล้วก็เมื่อมีรายได้แล้วก็ไปซื้อของที่จำเป็นและสิ่งที่จะมาเกื้อกูลการอาชีพของตัว อย่างนี้ไม่ค่อยมีการศึกษากัน เมื่อผลิตอะไรแล้วก็จำหน่ายไปก็มีรายได้ก็ต้องทำบัญชี ชาวบ้านทำบัญชีบางที่ไม่ค่อยถูก...

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : มรรควิธีที่ช่วยเหลือให้เกษตรกรได้บรรลุผลในการพึ่งตนเอง

1.  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ :  ความหมายและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้วยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังจะพัฒนาประชาชนในชนบทให้สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับ พออยู่ พอกิน เสียก่อน จากนั้นก็จะเพิ่มระดับการพึ่งตนเองได้เป็นลำดับ

แนวพระราชดำริเพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลายนี้อาจกล่าวได้ว่าเพื่อสนองพระราโชบายในการเสริมสร้างการเรียนรู้แก่ประชาชนในชนบท เพื่อจักได้พึ่งตนเองได้โดยแก้ กล่าวคือ

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชประสงค์ในการจัดตั้งนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชาธิบายว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   มีลักษณะดังนี้

...เป็นศูนย์ หรือเป็นที่แห่งหนึ่งที่รวมการศึกษาเพื่อดูว่า ทำอย่างไร จะพัฒนาได้ผล...

นอกจากนี้ได้พระราชทานพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า

...ศูนย์ศึกษานี้เป็นคล้ายๆ พิพิธภัณฑ์ใหญ่ที่มีชีวิตที่ใครๆ จะมาดูว่าทำอะไรกัน...

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนั้น มีพระราชดำรัสว่า

 

เพื่อเป็นแหล่งสาธิตให้เกษตรกรได้เรียนรู้

...ที่ตั้งศูนย์ศึกษานี้เพื่อจุดประสงค์สำคัญยิ่ง 2 ทาง คือ ทางหนึ่งก็คือเป็นการ

สาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ  หมายถึงว่าทุกสิ่งทุกด้านของชีวิตประชาชน ที่จะหาเลี้ยงชีพในท้องที่จะทำอย่างไรและได้เห็นวิทยาการแผนใหม่จะสามารถที่จะหาดูวิธีการจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ...

เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยทดลอง

...จุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ  ก็เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่

เพราะว่าแต่ละท้องที่สภาพฝนฟ้าอากาศและประชาชนในท้องที่ต่างๆ กัน ก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน...

เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็นในการพัฒนา

...กรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้านของการพัฒนาชีวิตของ

ประชาชนได้สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปรองดองกัน ประสานงานกัน...

เป็นศูนย์รวมบริการประชาชนทางด้านความรู้และวิชาการ

...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรม

กองทั้งในด้านเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านหางานการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่าประชาชนซึ่งจะต้องใช้วิชาการทั้งหลายก็สามารถที่จะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมกันในที่เดียวกัน ซึ่งเป็นสองด้านก็หมายถึงว่าที่สำคัญปลายทางคือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์..

จึงอาจกล่าวได้ว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนา คือ แหล่งค้นคว้าหาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ของเกษตรกร  สืบเนื่องจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้สามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ โดยวิธีการหนึ่งที่ทรงเห็นว่าได้เรียนรู้และพบเห็นด้วยประสบการณ์ตนเองนั้น เป็นการสร้างการเรียนรู้ในการพัฒนาชนบท ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชดำริให้มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากระราชดำริ โดยทำหน้าที่เสมือน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิจัย และแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆและเมื่อค้นพบพิสูจน์ได้ผลแล้ว ก็จะนำผลที่ได้ไป พัฒนา สู่ราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงจนกระทั่งขยายผลแผ่กระจายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้สำเร็จสูงสุดสู่ราษฎรต่อไป

2.  แนวทางและวัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญมีดังนี้

2.1  การแก้ไขปัญหาตามสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกัน การพัฒนาจะต้องเริ่มต้นจากสภาพความเป็นจริง ศึกษาว่าปัญหาของพื้นที่นั้นคืออะไร และเลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ แปรเปลี่ยนไปตามสภาพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

2.2  การแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างนักวิชาการ นักปฏิบัติและประชาชน การศึกษาค้นคว้าง ทดลอง วิจัยต่างๆ ที่ได้ผลแล้ว ควรจะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาจึงควรเป็นแหล่งผสมผสานวิชาการและการปฏิบัติเป็นแหล่งความรู้ของราษฎร เป็นแหล่งศึกษาทดลองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างคน 3 กลุ่ม คือ ราษฎร เจ้าหน้าที่ ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาส่งเสริมและนักวิชาการ

2.3  การพัฒนาแบบผสมผสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาแต่ละแห่งเป็นแบบจำลองของพื้นที่และรูปแบบการพัฒนาที่ควรจะเป็น ในพื้นที่ลักษณะหนึ่งๆ นั้น จะสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ได้โดยวิธีใดบ้าง มิใช่การพัฒนาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แต่พยายามใช้ความรู้หลายสาขาที่สุด โดยให้แต่ละสาขาเป็นประโยชน์เกื้อหนุนกับการพัฒนาสาขาอื่นๆ ด้วย

2.4  การประสานงานระหว่างหน่วยราชการ แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาทุกแห่ง เน้นการประสานงาน การประสานแผนและการจัดการระหว่าง กรม กอง และส่วนราชการต่างๆ ให้เกิดเป็นจริงขึ้น

2.5  เป็นศูนย์รวมในการให้บริการแก่ประชาชน เพื่อให้ได้รับความสะดวกและประสิทธิภาพในการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์สูงสุด ตลอดจนได้รับริการจากทางราชการของส่วนราชการต่างๆ ทำให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดต่อราชการนับเป็นการปฏิรูปมิติใหม่ของระบบบริหารราชการแผ่นดินในการบริการของทางราชการแบบใหม่ที่สิ้นสุดตรงจุดเดียว One Stop Service หรือที่เรียกกันว่า การบริการแบบเบ็ดเสร็จ นั่นเอง

3.  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: ความเป็นมาและผลการดำเนินการ ในปัจจุบันมี 6 ศูนย์ กระจายอยู่ในภาคต่างๆ ทั้ง 4 ภาค คือ

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

ประวัติความเป็นมา  เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดศาลบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 264 ไร่ เมื่อเสด็จฯ ทอดพระเนตรที่ดินดังกล่าว ซึ่งมีสภาพเป็นดินทรายขาดความอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ และถ้าปลูกได้ก็เจริญเติบโตไม่ดีไม่สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้ จึงได้มีพระราชดำริกับเจ้าหน้าที่อำเภอ จังหวัด และหน่วยราชการต่างๆ ให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาด้านเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ เพื่อเป็นแหล่งให้เกษตรกรและผู้สนใจได้เข้าชม ศึกษา ค้นคว้า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา   กล่าวได้ว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนได้ถือกำเนิดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นับเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรก

พื้นที่ดำเนินการ  ในปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีพื้นที่ซึ่งราษฎรได้น้อมเกล้าฯถวาย ประมาณ 1,240 ไร่ และพื้นที่ส่วนพระองค์ ที่อยู่ติดกับศูนย์ฯ ซึ่งได้พระราชทานให้เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัย และทดสอบการพัฒนาด้านการเกษตรเป็นการสนับสนุนศูนย์ฯ อีกทางหนึ่ง มีเนื้อที่ประมาณ 655 ไร่ รวมพื้นที่ 1,895 ไร่

นอกจากนี้ยังมีศูนย์สาขา ประกอบด้วย

ศูนย์บริการพัฒนาบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี

โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก

การดำเนินงานของศูนย์ฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ดำเนินกิจกรรมใน

 

การปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐาน เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาปรับปรุงดิน การใช้วิธีธรรมชาติในการป้องกันศัตรูพืช การศึกษาความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกไม้ผลต่างๆ การสร้างพันธุ์ลูกผสมสองชั้นในพืชผักรับประทาน การปลูกและบำรุงรักษาป่าเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมและสาธิตการปลูกไม้ผลและ ขยายพันธุ์ไม้ผล ส่งเสริมการทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปรับปรุงบำรุงพันธุ์สัตว์ ตลอดจนการจัดตั้งธนาคารโค-กระบือ สาธิตการเลี้ยงปลา ผลิตพันธุ์ปลาและแจกจ่ายพันธุ์ปลา ฝึกอบรมด้านศิลปาชีพ แนะนำส่งเสริมเผยแพร่หลักการและวิธีการสหกรณ์ เป็นต้น

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ประวัติความเป็นมา  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ตั้งอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันอันเป็นพื้นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชโองการประกาศให้เป็นที่หลวงเมื่อ พ.ศ. 2466 และ พ.ศ. 2467 เดิมพื้นที่แห่งนี้มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าประเภทเนื้อทรายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า ห้วยทราย ต่อมาราษฎรได้เข้ามาอาศัยทำกิน บุกรุกแผ้วถางป่าประกอบอาชีพตามยถากรรม ภายในเวลา 40 ปี ป่าไม้ได้ถูกทำลายเป็นจำนวนมากทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและมีปริมาณน้อยลง จนมีลักษณะเป็นพื้นที่อับฝน ดินขาดการบำรุงรักษา จนเกิดความไม่สมดุลตามธรรมชาติ การพังทลายของผิวดินค่อนข้างสูง ประกอบกับราษฎรส่วนใหญ่ปลูกสับปะรดซึ่งต้องใช้สารเคมีมาก ทำให้คุณภาพของดินตกต่ำลงไปอีก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ...หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด...  และเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2526 ได้พระราชทานพระราชดำริกับหม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์  ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้เอนกประสงค์ จัดให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิมได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ ได้ประโยชน์จากป่าไม้ และไม่ทำลายป่าไม้อีกต่อไป มุ่งหมายที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำศึกษาระบบป้องกันไฟไหม้ป่าแบบ ระบบป่าเปียก ให้ราษฎรสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้ และปลูกพืชชนิดต่างๆ ควบคู่ไปด้วย และให้ราษฎรที่เข้ามาทำกินโดยมิชอบเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อที่จะได้พระราชทานที่ดินทำกินต่อไป

 

เมื่อได้พระราชทานพระราชดำริแล้วศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ถือกำเนิด เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา

พื้นที่ดำเนินการ พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ขอบเขตพื้นที่โครงการประมาณ 15,880 ไร่ โดยมีศูนย์สาขาคือ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

 

การดำเนินงานของศูนย์  ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม เร่งสร้างความสมดุลทางธรรมชาติให้กลับสู่สภาพเพิ่มโดยการปลูกป่าไม้ 3 อย่าง คือ ไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก ได้แก่ การสร้างแนวป้องกันไฟป่าแบบเปียก ศึกษาวิจัยการทำเกษตรแบบผสมผสาน การทำการเกษตรในระบบวนเกษตร ระบบเกษตรธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อทรายซึ่งในขณะนี้ได้ทดลองปล่อยเนื้อทราย เก้ง ละอง ละมั่ง กลับคืนสู่สภาพป่าธรรมชาติ เป็นต้น

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบลสานามไชย  อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

ประวัติความเป็นมา  ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่นายบุญนาค สายสว่าง  ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี สรุปได้ว่า ...ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมง และการเกษตรในเขตพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี...  โดยพระราชทานเงินที่ราษฎรได้ร่วมทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสดังกล่าวเป็นทุนเริ่มดำเนินการ และในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเตอม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเกี่ยวกับโครงการที่จะจัดทำขึ้นในเขตจังหวัดจันทบุรี สรุปสาระสำคัญได้ว่า ...ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณะประโยชน์ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล...   จังหวัดจันทบุรีจึงได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและกำหนดพื้นที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน ตำบลสนามไชย อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาฯ

 

พื้นที่ดำเนินการ  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ มีพื้นที่โครงการประมาณ 34,299 ไร่

การดำเนินงานของศูนย์ฯ  ดำเนินกิจกรรมในการค้นคว้า ทดลอง และสาธิตการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมชายฝั่ง ได้แก่  การศึกษาวิจัยวิธีบำบัดน้ำเสียจากบ่อกุ้งกุลาดำ ส่งเสริมการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและรักษาดุลยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก เช่น การวิจัยและทดสอบระบบการเกษตรผสมผสาน การส่งเสริมความรู้ในเรื่องของสหกรณ์ จัดอบรมด้านการ

 

ปศุสัตว์ เป็นต้น

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

ประวัติความเป็นมา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์  องคมนตรี และอธิบดีกรมชลประทาน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้มีการศึกษาทดลองงานพัฒนาการเกษตรต่างๆ ตามความเหมาะสม สำหรับเป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติต่อไป เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2526 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ โดยมีหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นประธาน และวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 ทอดพระเนตรศูนย์ศึกษาฯ แห่งนี้อีกและได้มีพระราชเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2527 เป็นต้นมา

พื้นที่ดำเนินการ  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีพื้นที่โครงการประมาณ 2,300 ไร่

และเขตปริมณฑลเพื่อการพัฒนาป่าไม้ประมาณ 11,000 ไร่

 

การดำเนินงานของศูนย์ฯ  ดำเนินการพัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาระบบการ

ปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร เช่น การศึกษาทดสอบพันธุ์ข้าวไร่ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่การศึกษาเกี่ยวกับผลของสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลง การจัดระบบเกษตรแบบผสมผสาน เป็นต้น การศึกษาระบบนิเวศน์วิทยาของป่า การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพดิน การส่งเสริมและพัฒนาด้านปศุสัตว์และประมง

 

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

 

ประวัติความเป็นมา  เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระ

เจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาพื้นที่บริเวณป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะใช้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลองเพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่บริเวณต้นน้ำลำธารของภาคเหนือ และเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฏิบัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยการใช้ระบบชลประทานเข้าเสริมการปลูกป่าไม้ 3 อย่าง และการใช้ลุ่มน้ำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่โครงการและได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ให้ศูนย์ทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยให้ต้นทางเป็นป่าไม้และปลายทางเป็นการศึกษาการทำประมงตามอ่างเก็บน้ำซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับราษฎรอย่างแท้จริง

 

พื้นที่ดำเนินการ  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มีพื้นที่ดำเนินการอยู่ในเขต

ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่กวง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 8,800 ไร่ ภูมิประเทศทั่วไปเป็นป่าเขา ทิศเหนือเป็นป่าไม้เบญจพรรณ พื้นที่ตอนกลางและตอนใต้เป็นป่าที่มีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ในการศึกษาการพัฒนาเกษตรกรรมด้านต่างๆ

 

นอกจากนี้แล้วศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ยังมีศูนย์สาขา ประกอบด้วย

โครงการศูนย์บริการพัฒนาและขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลอันเนื่องมาจาก

 

พระราชดำริ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

2.   โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

3.  โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

4.  โครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย

การดำเนินงานของศูนย์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารมีการปลูกป่า 3 อย่าง (ไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล  และไม่ใช้สอย) 3 วิธี (โดยการใช้น้ำจากชลประทาน น้ำฝน และฝายเก็บกักน้ำขนาดเล็กตามแนวร่องหุบเขา ซึ่งเรียกว่า Check Dam เพื่อรักษาความชุ่มชื้น) ศึกษาการพัฒนาระบบเกษตรป่าไม้ ศึกษาวิจัยต้นน้ำลำธาร นิเวศวิทยาป่าไม้ การป้องกันไฟป่าแบบเปียก การศึกษา การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร จัดทำระบบอนุรักษ์และพัฒนาดิน รวมทั้งการศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรมต่างๆ การทำปศุสัตว์โคนมสัตว์ปีก  และการเกษตรอุตสาหกรรม

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

ประวัติความเป็นมา  เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 3 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาว่าสภาพื้นที่ในบริเวณจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดปีและมีสภาพเป็นดินพรุ เมื่อระบายน้ำออกแล้วจะแปรสภาพเป็นกรดจัด ทำการเพาะปลูกไม่ได้ผล จึงได้พระราชทานพระราชดำริกับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสว่า ควรมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาในการศึกษาวิจัยดินพรุ นำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่พรุอื่นๆ ต่อไป ต่อมาจึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างจังหวัดนราธิวาสและสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)  เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง

 

พื้นที่ดำเนินการ  บริเวณที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง มีเนื้อที่ประมาณ 510 ไร่ แบ่งออกเป็นอาคารสำนักงานและแปลงสาธิตบนที่ดิน 202 ไร่ และแปลงวิจัยทดทองในพื้นที่พรุ 308 ไร่ อีกทั้งยังมีพื้นที่พรุจังหวัดนราธิวาสเนื้อที่ประมาณ 261,860 ไร่

นอกจากนี้ยังมีศูนย์สาขาอีก ประกอบด้วย

โครงการสวนยางเขาตันหยง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

โครงการพัฒนาหมู่บ้านปิแนมูดอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

โครงการหมู่บ้านเกษตรปศุสัตว์มูโนะ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

การดำเนินงานของศูนย์ฯ  กิจกรรมที่ศูนย์ได้ดำเนินการ คือ การศึกษาวิจัยและ

ปรับปรุงดินที่มีปัญหาให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก เช่น การพัฒนาดินอินทรีย์และดินเปรี้ยวจัด การใช้น้ำจืดชะล้างกรดออกจากดินทดลองเลี้ยงปลาน้ำกร่อยซึ่งในขณะนี้น้ำเปรี้ยวสามารถปรับปรุงเพื่อใช้เลี้ยงปลาได้แล้ว การศึกษาการปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่พรุเพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม เป็นต้น การพัฒนาระบบปลูกพืชการคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีความเหมาะสมในสังคมพืชป่าพรุ การทำสวนยางครบวงจร การปรับปรุงและบำรุงรักษาป่า การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ โครงการผลิตพืชสวนประดับเพื่อศึกษาหาพันธุ์ไม้ดอกและวิธีปลูกที่เหมาะสมในภาคใต้เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูกต่อไป เช่น สร้อยทอง แกลดิโอลัส เบญจมาศ เฮลิโกเนีย ปทุมมา ซ่อนกลิ่น หน้าวัว ดาวเรือง บานชื่น และแอสเตอร์

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ได้กระทำหน้าที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ดุจดังฟันเฟืองจักรกลสำคัญของการพัฒนาชนบทในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง จะเห็นได้ว่าแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น แสดงถึงพระปรีชาสามารถอันสูงเลิศที่บ่งบอกถึงพระอัจฉริยภาพเป็นที่ยิ่งว่า ทรงเป็นนักพัฒนาชนบทที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในโลกนี้ทีเดียว

 

แนวพระราชดำริเพื่อพึ่งตนเองของเกษตรกรในชนบทตามหลักการแห่งทฤษฎีการยอมรับนวัตกรรม (Innovation Adoption Theory)

บรรดานักวิชาการด้านการพัฒนาชนบทและผู้ปฏิบัติด้านการพัฒนามักฉงนอยู่เสมอว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้กลยุทธ์ใดในการแนะนำเผยแพร่ประชาชนให้ยอรับแนะพระราชดำริของพระองค์  เพราะในการพัฒนาชนบทตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยนั้น จำต้องยอมรับด้วยความจริงว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายสมบูรณ์ดังที่ได้วางไว้ ปัญหาสำคัญที่ยังต้องคาอยู่เหนียวแน่น คือ การยอมรับการพัฒนาจากผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)

 

เมื่อวิเคราะห์จากแนวคิดของ Everett M. Rogers เกี่ยวกับทฤษฎีการแปรกระจายนวัตกรรม (The Diffusion of Innovation Theory) มีสาระสำคัญว่า การที่บุคคลจะยอมรับแนวคิดการพัฒนาได้นั้น จะต้องมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมายขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ระบบสังคม ระบบสื่อสารของนวัตกรรม และระยะเวลาการดำเนินการด้วย ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ขั้นตอนการยอมรับของประชาชนในแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วพบว่าทรงเป็นนักพัฒนาชนบทที่ประสบความสำเร็จยิ่งดังรายละเอียดดังนี้ คือ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกฝังแนวพระราชดำริให้ประชาชนยอมรับไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยให้วงจรการพัฒนาดำเนินไปตามครรลองธรรมชาติ กล่าวคือ

 

1. ทรงสร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้รับรู้ (Awareness) ในทุกคราเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในทุกภูมิภาคต่างๆ จะทรงมีพระราชปฏิสันถารให้ประชาชนได้รับทราบถึงสิ่งที่ควรรับรู้ เช่น การปลูกหญ้าแฝกจะช่วยป้องกันดินพังทลาย และใช้ปุ๋ยธรรมชาติจะช่วยประหยัดและบำรุงดิน การแก้ไขดินเปรี้ยวในภาคใต้สามารถกระทำได้ การตัดไม้ทำลายป่าจะทำให้ฝนแล้ง เป็นต้น ตัวอย่างพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน ได้แก่

 

...ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาไว้ ไม่ทำให้ประเทศไทยเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทราย ก็ป้องกันทำได้...

 

2.ทรงสร้างความสนใจแก่ประชาชน (Interest) หลายท่านคงได้ยินหรือรับฟังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีนามเรียกขานแปลกหู ชวนฉงนน่าสนใจติดตามอยู่เสมอ เช่น โครงการแก้มลิง โครงการแกล้งดิน โครงการเส้นทางเกลือ โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย หรือโครงการน้ำสามรส ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น  ล้วนชวนเชิญให้ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่พระองค์ก็จะมีพระราชาธิบายแต่ละโครงการอย่างละเอียดเป็นที่เข้าใจง่ายรวดเร็วแก่ประชาชนทั้งประเทศ

 

3.ในประการต่อมา ทรงให้เวลาในการประเมินค่าหรือประเมินผล (Evaluate) ด้วยการศึกษาหาข้อมูลต่างๆ ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์นั้นเป็นอย่างไร สามารถนำไปปฏิบัติได้ในส่วนของตนเองหรือไม่ ซึ่งยังคงยึดแนวทางที่ให้ประชาชนเลือกการพัฒนาด้วยตนเองที่ว่า

 

...ขอให้ถือว่าการงานที่จะทำนั้นต้องการเวลาเป็นงานที่มีผู้ดำเนินมาก่อนแล้ว ท่านเป็นผู้ที่จะเข้าไปเสริมกำลัง จึงต้องมีความอดทนที่จะเข้าไปร่วมมือกับผู้อื่น ต้องปรองดองกับเขาให้ได้ แม้เห็นว่ามีจุดหนึ่งจุดใดจะต้องแก้ไขปรับปรุงก็ต้องค่อยพยามแก้ไขไปตามที่ถูกที่ควร...

 

4.ในขั้นทดลอง (Trial) เพื่อทดสอบว่างานในพระราชดำริที่ทรงแนะนำนั้นจะได้ผลหรือไม่ ซึ่งในบางกรณีหากมีทดลองไม่แน่ชัดก็ทรงมักจะมิให้เผยแพร่แก่ประชาชน หากมีผลการทดลองจนแน่พระราชหฤทัยแล้วจึงจะออกไปสู่สาธารณชนได้ เช่น ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำนั้นได้มีการค้นคว้าหากความเหมาะสมและความเป็นไปได้จนทั่วทั้งประเทศว่าดียิ่ง จึงนำออกเผยแพร่แก่ประชาชน เป็นต้น

 

5.ชั้นยอมรับ (Adoption) โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นเมื่อผ่านกระบวนการมาหลายขั้นตอน บ่มเวลาการทดลองมาเป็นเวลานานตลอดจนทรงให้ศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสถานที่อื่น ๆ เป็นแหล่งสาธิตที่ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาดูได้ถึงตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ดังนั้น แนวพระราชดำริของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่ราษฎรสามารถพิสูจน์ได้ว่าจะได้รับผลดีต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของตนได้อย่างไร

 

 

แนวพระราชดำริทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระสติปัญญา ตรากตรำพระวรกายเพื่อค้นคว้าหาแนวทางการพัฒนาให้พสกนิกรทั้งหลายได้มีความร่มเย็นเป็นสุขสถาพรยั่งยืนนานนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ได้พระราชทานแก่ปวงไทยตลอดเวลา 50 ปี จึงกล่าวได้ว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์นั้นสมควรอย่างยิ่งที่ทวยราษฎรจักได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทตามที่ทรงแนะนำสั่งสอน อบรมและวางแนวทางไว้เพื่อให้เกิดการอยู่ดีมีสุขโดยถ้วนเช่นกัน….

Sky Bet by bettingy.com
เกี่ยวกับมูลนิธิ
 

เกี่ยวกับมูลนิธิ

ความเป็นมา,วัตถุประสงค์ ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม

โครงการพระราชดำริ
 

โครงการสืบสานแนวพระราชดำริ

โครงการสืบสานแนวพระราชดำริ อ่านเพิ่มเติม

ผลิตภัณฑ์โครงการ
 

โครงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์ ชมพู-ภูคา ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม

บริจาคสมทบทุนมูลนิธิ
 

บริจาคสมทบทุนมูลนิธิ

ช่องทางบริจาคสมทบทุนต่างๆ อ่านเพิ่มเติม